จากบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อิตัลไทยได้นำเสนอให้เห็นถึงโอกาสการหางานในช่วงภาวะวิกฤตไปแล้ว ในสัปดาห์นี้เราลองมาดูในมุมขององค์กรกันบ้างว่า เมื่อมีคนเก่งยอมเสนอตัวเข้ามาทำงานด้วยแล้ว องค์กรควรต้องทำอย่างไรเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ให้อยากอยู่ด้วยไปนานๆ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมาได้เรื่อยๆ นอกเหนือจากเรื่องของการเสนอเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แน่นอนว่าคนเก่งองค์กรไหนๆ ก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้มาร่วมงาน เพราะเมื่อคำนึงถึงผลลัพธ์ที่องค์กรจะได้ ยังไงก็คุ้ม!
คุณสรัญญา วัฒนศิริสุข รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทอิตัลไทย มองว่าการดูแลพนักงานในปัจจุบัน วิธีการเดิมๆที่ HR มักจะใช้สูตร One size fits for all หรือ รูปแบบเดียวใช้พัฒนาคนทั้งองค์กรนอกจากจะไม่สามารถตอบโจทย์คนเก่งในยุคนี้ได้แล้ว อาจจะไม่ช่วยสนับสนุนต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรด้วย
เพราะในความเป็นจริงองค์กรหนึ่งๆ จะประกอบไปด้วยคนหลายช่วงวัย ตั้งแต่ Gen Baby boomer, Gen X และGen Y รวมถึงเด็กจบใหม่ซึ่งเป็น Gen Z มาทำงานร่วมกัน ประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว พฤติกรรมการเรียนรู้ ตรรกะในการคิด วิธีการสื่อสาร หรือ การรับสารของแต่ละเจเนอเรชั่น ก็จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น “การที่จะดูแลและพัฒนาคนที่มีความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างกัน ย่อมต้องถูกคิดและวางแผนให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคนอย่างรอบคอบ รวมทั้งยังต้องพิจารณาควบคู่ด้วยว่าหลังจากพัฒนาแล้วองค์กรเองมีเวทีให้พวกเขาแสดงศักยภาพต่อหรือไม่ และอย่างไร”
คุณสรัญญา มองว่า พนักงานทุกคนคือคนเก่งทั้งหมด เพราะคงไม่มีองค์กรไหนที่รับพนักงานที่ไม่เก่งเข้ามาร่วมงาน ดังนั้นการพัฒนาพนักงานจึงต้องทำกับทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ขึ้นไปถึงระดับบริหาร ไม่สามารถเลือกที่จะทำกับแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ นั่นเพราะการพัฒนาบุคลากรในปัจจุบันเป็นไปเพื่อให้คนในแต่ละ Value Chain มีความรู้ความสามารถที่ทัดเทียมกัน สามารถทำงานส่งเสริมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าเลือกพัฒนาแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าคนรอบข้างเขาตามไม่ทัน คนที่ถูกเลือกพัฒนาก็มีแต่จะเหนื่อยแล้วไม่เห็นผลลัพธ์อะไร สุดท้ายเขาก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่น
ยิ่งพนักงานที่เป็น Talent มีพรสวรรค์โดดเด่น มักมีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การที่องค์กรจะรักษาคนเหล่านี้ให้ร่วมงานให้กับองค์กรในระยะยาวได้ ควรจะต้องมีการส่งเสริมให้เขาได้พัฒนาศักยภาพอยู่เสมอเช่นกัน
ที่อิตัลไทยเอง คุณสรัญญา กล่าวว่า เรามียุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรที่มุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มศักยภาพพนักงานและองค์กรให้เท่าทันบริบทของโลก เราเปิดโอกาสให้แต่ละบริษัทภายใต้กลุ่ม รวมถึงพนักงานแต่ละคนสามารถทำ Individual Development Plan ที่ตอบโจทย์ของตัวและสนับสนุนธุรกิจได้เอง เพื่อ HR นำไปหาโปรแกรม หรือ องค์ความรู้ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนมาให้เลือกเรียนรู้ ภายใต้หลักสำคัญ 2 เรื่อง
1.พนักงานทุกคนต้องรู้ว่า Career Aspiration ตนเองเป็นแบบใด ต้องการพัฒนา หรือ เติบโตต่อไปอย่างไร
2.โปรแกรมการเรียนรู้ที่ HR นำมาเสนอตามแผนของแต่ละคน ต้องผสานเข้ากับวิสัยทัศน์องค์กรด้วย
รวมถึงที่อิตัลไทยยังเปิดเวทีให้กับพนักงานได้แสดงความสามารถ โดยที่ผ่านมาไอเดียจากพนักงานที่อยู่ในกลุ่ม Young Talent ของเราสามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้า หรือ โซลูชั่นใหม่ๆ ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน อาทิ การเปิดไลน์โปรดักส์ประเภทกาแฟ หรือ ออกแบบระบบสื่อสารภายในองค์กรเพื่อปิดช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นในแบบที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาเองอีกด้วย