กลุ่มอิตัลไทยเขย่าแผนกลุ่มธุรกิจโรงแรม “ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้” ฝ่ามรสุมโควิด-สงครามรัสเซีย-ยูเครน ชี้ธุรกิจโรงแรมอยู่ในโหมดวิ่งสู้ฟัดอีก 2-3 ปี ปรับพอร์ตโฟกัสเซาท์อีสต์เอเชีย พร้อมปิดดีลบริหาร 3 โรงแรมตระกูลดัง “เดอะไทด์” ตระกูลคุณปลื้ม โรงแรมเชียงใหม่-สุโขทัยของ “หมอเสริฐ” และต่อสัญญาอมารีบุรีรัมย์อีก 10 ปี
นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอิตัลไทย และธุรกิจโรงแรมภายใต้กลุ่มบริษัทออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ภายใต้แบรนด์ Amari, OZO, SHAMA เป็นต้น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมธุรกิจของกลุ่มอิตัลไทยหนักต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดลากยาวมานานกว่า 2 ปี
เพราะขณะที่ธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากที่รัฐบาลเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ผลกระทบจากการสู้รบ มาตรการแซงก์ชั่นต่าง ๆ ทำให้ราคาน้ำมันและต้นทุนวัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบอาหารต่าง ๆ ปรับขึ้นยกแผง ก็ทำให้กระทบกับต้นทุนทั้งในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว และกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
ธุรกิจโรงแรมวิ่งสู้ฟัดต่อ 2-3 ปี
สำหรับธุรกิจโรงแรมภายใต้บริษัทออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป บริษัทได้ปรับแผนธุรกิจ คลีนอัพพอร์ตครั้งใหญ่นับตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 มีทั้งปิดสำนักงานในต่างประเทศ ลดขนาดธุรกิจ ยกเลิกสัญญาบริหารในบางตลาด ฯลฯ โดยประเมินว่าธุรกิจโรงแรมจะอยู่ในภาวะวิ่งสู้ฟัด หรือประคับประคองธุรกิจต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี เพื่อที่จะทำให้กลับมาแข็งแรง
นายยุทธชัยกล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลประกาศเปิดประเทศในรูปแบบภูเก็ตแซนด์บอกซ์ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 กระทั่งเปิดแบบยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศ 72 ชั่วโมงเป็นเมื่อ 1 เมษายน 2565 แต่ในภาพรวมของธุรกิจโรงแรมยังไม่ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ยกเว้นโรงแรมอมารี ภูเก็ต (ป่าตอง) ที่พบว่าอัตราการเข้าพักเริ่มกลับมาประมาณ 60-70% เช่นเดียวกับราคาห้องพักที่ทยอยกลับมาได้ประมาณ 70-80% ของภาวะปกติ (ปี 2562)
อัตราเข้าพักเริ่มมา ราคาไม่ขยับ
ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ปัจจุบันอัตราเข้าพักกลับมาประมาณ 50% แต่ราคาห้องพักก็ยังกลับมาได้แค่ประมาณ 50% ของราคาช่วงปกติเท่านั้น คือจากเดิมที่ขายเฉลี่ยประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อคืน ปัจจุบันราคาเฉลี่ยยังอยู่ในระดับ 3,000 บาทต่อคืนเท่านั้น เช่นเดียวกับพัทยา (ชลบุรี) ที่ปัจจุบันอัตราการเข้าพักกลับมาประมาณ 60-70% แต่ราคาเฉลี่ยยังค่อนข้างต่ำ
“ผมว่าตอนนี้โรงแรมในกรุงเทพฯหนักสุด เพราะไม่สามารถปรับราคาให้ไปอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นได้ บางโรงแรมขายกันที่ราคา 1,500-2,000 บาท รวมถึงโรงแรมที่สมุยและหัวหินก็ยังได้รับผลกระทบหนัก จำนวนนักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่มาก อย่างหัวหินก็จะได้นักท่องเที่ยวคนไทยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น” นายยุทธชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องรอประเมินอีกครั้งว่าหลังจากที่รัฐบาลเปิดประเทศยกเลิก Test & Go ให้ต่างชาติเข้ามาได้ โดยไม่ต้องมีการตรวจ RT-PCR ทั้งก่อนเดินทางเข้าและเมื่อเดินทางมาถึง จะช่วยทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากขึ้นได้แค่ไหน และโรงแรมจะสามารถปรับขึ้นราคาได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าโอกาสที่ธุรกิจโรงแรมจะสามารถกลับมาทำราคาได้ในระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด น่าจะเป็นช่วงไฮซีซั่นปลายปี 2565 เป็นต้นไป
“ผมว่าโครงสร้างและการบริหารธุรกิจโรงแรมหลังจากนี้จะเปลี่ยนไป ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมแน่นอน อย่างตอนนี้วอลุ่มกำลังกลับมา แต่ต้นทุนการบริหารก็ปรับตัวสูงขึ้น เราก็ต้องเลือก ถ้าจะเอากระแสเงินสดก็ต้องเลือกวอลุ่ม แต่ราคาขายก็ต้องต่ำลง ตอนนี้ผมว่าหลายโรงแรมกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีแคชโฟลว์เข้ามาเลี้ยงธุรกิจ” นายยุทธชัยกล่าว
ถอยตลาดจีน-รุกมาเลเซีย
นายยุทธชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายเน้นสร้างพอร์ตโฟลิโอที่มีอยู่แข็งแรง ทำให้ปีที่ผ่านมาบริษัทตัดสินใจถอยออกจากตลาดจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ชามา (Shama) เนื่องจากทำการตลาดยาก จึงมีแผนรวมสำนักงานในเซี่ยงไฮ้กับสำนักงานฮ่องกงเข้าด้วยกัน และลดขนาดตลาดให้เล็กลง ขณะเดียวกันก็มองว่าเงินทุนที่บริษัทมีอยู่ก็มีไม่เพียงพอสำหรับนำไปลงทุนในประเทศจีนเพิ่มอีก ดังนั้นจึงเลือกโฟกัสตลาดเป้าหมายที่ตามยุทธศาสตร์
โดยเงินลงทุนที่มีอยู่ บริษัทจะนำมาเน้นลงทุนในตลาดประเทศไทย มาเลเซีย และมัลดีฟส์ โดยตลาดมาเลเซียมีแผนเปิดโรงแรม 4 แห่ง รวมเกือบ 2,000 ห้องพักในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งที่ปีนัง, กัวลาลัมเปอร์ เป็นต้น โดยการร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ต่อไปมาเลเซียก็จะกลายเป็นพอร์ตที่มีขนาดใหญ่รองจากประเทศไทย
“มาเลเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง นอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยว มาเลเซียจะมีการเดินทางของกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติจำนวนมาก สามารถ diversify ได้เยอะ ส่วนตัวคิดว่าเป็นประเทศที่เราต้องทำความรู้จักให้มากกว่านี้” นายยุทธชัยกล่าวและว่า นอกจากการลงทุนแล้วบริษัทยังมีแผนไปตั้งสำนักงานภูมิภาคที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้กรุงกัวลาลัมเปอร์ยังเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากร (talent pool) และเฟ้นหาบุคลากรที่มีคุณภาพในมาเลเซียและสิงคโปร์ส่งให้โรงแรมที่อยู่ทั้งในประเทศมาเลเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย
รับบริหารโรงแรม 3 ตระกูลดัง
นายยุทธชัยกล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุนพร็อพเพอร์ตี้ของบริษัทเองนั้น จะชะลอไปก่อน 3-5 ปีเพื่อประเมินสถานการณ์ และมาเน้นการทำให้พอร์ตโฟลิโอที่มีอยู่ทั้งหมดให้แข็งแรงก่อน จากนั้นค่อยขยายการลงทุนใหม่ มีเพียงโครงการเดิมที่ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อ รวมถึงการไปเน้นการเข้าไปรีแบรนด์และรับบริหาร ซึ่งในปีนี้ก็มีโครงการใหม่ 6-7 แห่งในประเทศไทย โดยล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญารับบริหารโรงแรมให้กับ 3 โปรเจ็กต์ ประกอบด้วย 1.โครงการรีแบรนด์โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน (ชลบุรี) ของนายณรงค์ชัย คุณปลื้ม เป็นแบรนด์ “อมารี บางแสน” ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565
2.รีแบรนด์โรงแรมในกลุ่ม BDMS ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่จังหวัดสุโขทัยและเชียงใหม่ เป็น “อมารี สุโขทัย” หรืออาจใช้แบรนด์ “โมเสค คอลเลคชั่น” และ “ชามา เชียงใหม่” และ 3.ได้มีการต่อสัญญากับบริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สปอร์ต โฮเต็ล จำกัด บริหาร “อมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ของนายเนวิน ชิดชอบต่ออีก 10 ปี
นอกจากนี้ยังมีโครงการรีแบรนด์โรงแรมของครอบครัวอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ รีแบรนด์โรงแรมเลย พาเลส เป็น “อมารี เลย” รวมทั้งรีแบรนด์โครงการอมารี เรสซิเดนท์ (หน้าโรงพยาบาลกรุงเทพฯ) เป็นแบรนด์ “ชามา เพชรบุรี 47” รีแบรนด์โครงการเอกมัย การ์เด้นท์ (บิ๊กซี เอกมัย) เป็นแบรนด์ “ชามา เอกมัย” เป็นต้น
จัดทัพโฟกัส “เซาท์อีสต์เอเชีย”
นายยุทธชัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป มีโรงแรมภายใต้การบริหาร 54 แห่ง ใน 6 ประเทศ แบ่งเป็นอมารี (Amari) 15 แห่ง, โอโซ่ (OZO) จำนวน 7 แห่ง, ชามา (Shama) 15 แห่ง, โมเสค คอลเลคชั่น (Mosaic Collection) 16 แห่ง และซัฟฟรอน คอลเลคชั่น (Saffron Collection) 1 แห่ง รวมห้องพักทั้งสิ้นกว่า 9,000 ห้อง
กลยุทธ์ใหม่ของออนิกซ์ฯ จะปรับมาโฟกัสตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้ปักธงในเมืองหลวงหลายประเทศแล้ว เช่น เวียงจันทน์ (สปป.ลาว), โคลัมโบ (ศรีลังกา), กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) เป็นต้น
บริษัทจะทยอยเพิ่มพอร์ตในแต่ละตลาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ละประเทศจะมีโรงแรมภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง เพื่อให้มี economy of scale ในการบริหารในแต่ละตลาด เป็นลักษณะของการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น โดยที่ทางบริษัทเน้นการเข้าไปรับบริหาร
“ผมมองว่าการบริหารโรงแรมนับจากนี้เป็นอะไรที่น่าศึกษามาก การบริหารจัดการต้องมี economy of scale ขณะที่เรื่องการ M&A ก็คงมีเพิ่มขึ้น เพราะเราต้องหาพอร์ตโฟลิโอที่จะเข้าไปซื้อหรือร่วมทุนเพิ่ม สิ่งสำคัญคือกลุ่มของเราจะไม่เน้นมีพอร์ตจำนวนมาก ๆ แต่จะให้ความสำคัญกับการทำให้พอร์ตที่มีอยู่แข็งแรง เจ้าของที่จะมาทำงานร่วมกับเราก็ต้องเป็นการลงทุนในระยะยาวด้วย” นายยุทธชัยกล่าว
อ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ prchachat.net/tourism/news-921279