Italthai Group

26/08/2021

ผู้นำ “ไม่ใช่แค่นำ แต่ต้องเข้าใจและดูแล”

บทบาทผู้นำนอกจากเป็นแม่ทัพในการสั่งการ ควบคุม และตัดสินใจ เพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปได้แล้ว ผู้นำยังต้องมีหน้าที่ดูแลคนในทีมด้วย ซึ่งการดูแลนี้รวมไปถึงการดูแลทางด้านใจจิตให้กับคนในทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียดและความไม่แน่นอนอย่างเช่นในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญนอกเหนือจากตัวเลขแล้ว องค์กรควรคำนึงถึง คือ สภาพจิตใจของพนักงานในแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่การสงสาร เห็นใจ หรือให้ใครได้สิทธิพิเศษ แต่เป็นการทำความเข้าใจ เพื่อปรับการทำงานให้ยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขจำเป็น และพาทีมไปข้างหน้าด้วยกันด้วยทัศนคติเชิงบวก

5 แนวทางง่ายๆ ที่อิตัลไทยคิดว่าสามารถทำได้จริง และทำได้เลย

1. ผู้นำเปิดเผยด้านที่อ่อนแอ

การที่ผู้นำหรือหัวหน้า เลือกที่จะบอกเล่าและเปิดเผยถึงปัญหาความท้าทายที่เขาเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กน้อย หรือความท้าทายใหญ่ มันจะทำให้ลูกทีมสัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์ ความเหมือนกันกับพวกเขา และที่สำคัญคือความกล้าหาญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างและเก็บเกี่ยวความไว้เนื้อเชื่อใจกัน รวมถึงความผูกพันธ์ และผลการดำเนินงานของทีมดีที่ขึ้นด้วย

2. ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง

เชื่อว่าหลายองค์กรในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องคนมากพอๆกับเรื่องของรายได้ ดังนั้นการบอกให้ทีมดูแลสุขภาพกายใจของตัวเองเป็นเรื่องที่ดี แต่บอกอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ผู้นำควรทำเป็นแบบอย่างแสดงให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญผ่านการกระทำด้วย เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ เช่น การแบ่งเวลาพักเป็นเรื่องเป็นราว หรือแม้กระทั่งงดตอบอีเมลหรือถามเรื่องงานนอกเหนือจากเวลางาน(ยกเว้นเรื่องเร่งด่วน) เป็นเรื่องที่ทำได้ ทั้งนี้เพื่อดูแลตัวเองให้มีแรงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. อย่าปล่อยให้ Weekly Meeting เป็นแค่การอัพเดตงาน

ใช้โอกาสในการเจอกันผ่าน Weekly Meeting ให้เป็นมากกว่าการอัพเดทงาน การประชุมอย่าเพียงแค่ถามว่าช่วงนี้เป็นยังไงบ้างแบบผ่านๆ และตัดเข้าสู่การอัพเดตการดำเนินงานเลยทันที แต่ให้ใช้ช่วงเวลานี้กับคำถามที่จะทำให้ได้รับรู้ว่าเกิดเรื่องราวกับทีมอย่างไรบ้าง และอะไรคือสิ่งที่สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนเขาได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวเขาและทีมด้วย บทบาทสำคัญของผู้นำไม่ใช่เพื่อการหาคำตอบ วิธีการแก้ไข หรือแม้กระทั่งถามเจาะลึกไปในรายละเอียดที่เขาอาจจะไม่ได้สะดวกใจจะเล่า แต่เป็นการรับฟัง และแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจอย่างจริงใจ เพื่อแสดงให้ทีมเห็นว่า สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และเขาพร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจ เพื่อให้ทีมรู้สึกว่าไม่ได้เผชิญปัญหาและต้องผ่านไปให้ได้ตามลำพัง

4. ชวนทีมออกแบบการทำงานที่เน้น ‘ความยืดหยุ่น’

เมื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การสื่อสารเชิงรุกเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องนำมาปรับใช้ในการส่งเสริมให้ทีมมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ผ่านการพูดคุย สื่อสาร และปรับเปลี่ยน เพื่อสมาชิกในทีมสามารถให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจ ผู้นำควรชวนทีมออกแบบรูปแบบการทำงาน รวมถึงตารางเวลา และขอบเขตที่แต่ละคนต้องการด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยให้ทีมสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

5. สื่อสารให้มากเป็นพิเศษ

ในช่วงสถานการณ์ที่มีความกดดัน การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมาก ผู้นำต้องมั่นใจว่าทุกข้อมูล ทุกการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ได้มีการสื่อสารที่ดี ชัดเจน และส่งไปถึงพนักงานทุกคนในทุกระดับอย่างส่ม่ำเสมอ เพื่อลดความเครียดและความกังวลที่อาจเกิดขึ้นในทุกๆ ความเป็นไปได้ โดยสื่อสารความคาดหวังเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน รวมถึงตัวช่วยต่างๆที่มีเพื่อทำให้พนักงานรู้ว่าสามารถเลือกใช้เครื่องมือเหล่านั้นได้ถ้าหากพวกเขาต้องการ

“วัฒนธรรมองค์กรที่อิตัลไทยเราส่งเสริมให้พนักงานมีจิตใจที่คิดบวก เพื่อเปิดใจยอมรับ ปรับตัวและไม่ย่อท้อต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีการสื่อสารกันให้มากขึ้นด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันด้วยทัศนคติเชิงบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานเป็นทีมให้เกิดความร่วมมือกันได้เต็มที่ และจะทำให้ธุรกิจไปได้ไกลและเร็วกว่าที่ผ่านมา รวมถึงการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ย่อมทำให้เกิดการเรียนผู้ผ่านประสบการณ์จากหลากหลายแง่มุมของกันและกัน เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงและต่อยอดความสำเร็จของตัวเอง และองค์กรได้ต่อไป”

แหล่งที่มาเนื้อหา: A cup of culture